สืบเนื่องจาก วท. เรามีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) ขึ้น เลยอยากเพิ่มเติมความรู้ว่าด้วยชนิดหรือประเภทของการคอร์รัปชั่นของสังคมไทย
โดยการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนั้น สังศิต พิริยะรังสรรค์ เคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง คอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2548 ไว้ว่าสามารถจำแนกได้เป็น 15 ลักษณะ ดังนี้คือ
1. การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยการสร้างความขาดแคลนเทียม เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ าตาล
2. การฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัวและอาจกระทำโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเครพโตเครซี(Kleptocracy)
3. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลได้รับผลเสียส่วนตัวและผลดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือการกระทำหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม
4. การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ (ปั่นราคาหุ้นของตัวเอง)
5. การปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง การปิดบังและให้การเท็จ
6. การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ อย่างมีอคติและลำเอียง
7. การใช้อิทธิพลทางการค้า แสดงบทบาทเป็นนายหน้าหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการค้าต่างตอบแทน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า
8. การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ การปลอมแปลงเอกสาร การฉ้อฉล การใช้กองทุนของรัฐ เพื่อไปหาผลประโยชน์ทางการเมือง
9. การไม่กระทำการตามหน้าที่แต่ใช้ลัทธิพรรคพวกแทน เช่น การฮั้วประมูล
10. การให้และการรับสินบน การขู่เข็ญบังคับและการให้สิ่งล่อใจ
11. การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น เช็คของขวัญมูลค่าสูงและสินบนมูลค่าสูง
12. ผู้บริหารประเทศทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของประเทศ โดยการใช้นโยบายประชานิยม
13. ใช้อำนาจของตำรวจ ทหาร และข้าราชการในทางที่ผิด
14. ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง และการทุจริตด้วยวิธีต่าง ๆ
15. การบริจาคเพื่อช่วยเหลือการรณรงค์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การบริจาคให้แก่นักการเมือง
ความคิดเห็น
เอกสารศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศปท.วท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 และแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556
โครงสร้างภายในประกอบด้วย
- กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- กลุ่มงานส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม
ภารกิจหลักของ ศปท.วท. คือ การบูรณาการและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในกระทรวง
ปัจจุบันรับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อรองปลัดกระทรวง (นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ) ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (หศปท.วท.) ตามที่ปลัดกระทรวงมอบหมาย และมีข้าราชการ จำนวน ๒ ท่าน คือ นางสาวสิริมนต์ โฉมแฉล้ม และ นางสาวสะการะ พวงเพ็ชร์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ศปท.วท.
ภารกิจในปีแรกของการเริ่มต้น ศปท.วท. ยังไม่มีงบประมาณดำเนินงาน ประกอบกับเวลาที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์เป็นช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ จึงดำเนินภารกิจได้เพียงบางส่วน อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของ สป.วท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดยสำนัก/ศูนย์/กลุ่ม ใน สป.วท. เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ/กิจกรรม ในส่วนของการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ศปท.วท. ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน
หลายท่านอาจเห็นว่า ชื่อของศูนย์ฯ ฟังดูแล้วเคร่งเครียด จริงจัง และรุนแรง ประมาณนั้น ก็ต้องเรียนแจ้งให้ทราบว่า เป็นชื่อที่หน่วยงานผู้กำกับดูแลกำหนดให้ใช้ชื่อนี้เหมือนกันทุกส่วนราชการ จึงขออย่าได้จริงจังหรือตกใจ กับชื่อของศูนย์ฯ ไปเสียก่อน อันที่จริงแล้ว สป.วท. ของเราไม่เคยมีเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง กลับตรงกันข้ามในปี พ.ศ. 2554 หน่วยงานด้านการตรวจสอบอย่าง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มอบรางวัล ให้ สป.วท. เป็นหน่วยงานที่ได้คะแนนการประเมินสูงสุด ดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2554 และในปีนี้ (2556) ได้รับประกาศเกียรติคุณ “หน่วยงานโปร่งใส” พร้อมกับข้าราชการ สป.วท. 1 ท่าน คือ นางสาวอัมพร ประยูรกิตติกุล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สค.สบ. ได้รับประกาศเกียรติคุณ “ข้าราชการผู้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม” ด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมแสดงถึงการดำเนินงานของ สป.วท. มีความโปร่งใสเป็นที่ยอมรับ
เรื่องราวดีๆ อย่างนี้ จะปรากฎขึ้นบนเว็บไซต์ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศปท.วท.)
ที่มา : เอกสารศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต โดย คุณสิริมนต์ โฉมแฉล้ม และ คุณสะการะ พวงเพ็ชร์
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูได้ที่
http://www.ops.go.th/anti-corruption/
(URLนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต)
วันนี้ฝากเพื่อนๆ ชาว สป.วท. ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ
สวัสดีครับ
ติดตาม บล๊อกของผมได้ที่ : บล็อก NyBoy : pusit@most.go.th นะครับ