นักสืบฟองไข่...เรื่องใกล้ตัว
ในเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีการจัดงานวันไข่โลก (CELEBRATE WORLD EGG DAY) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม คุยกัน ..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในหัวข้อ “นักสืบฟองไข่...เรื่องใกล้ตัว” โดยวิทยากรรับเชิญ อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ หัวหน้าฝ่ายสร้างความรู้ความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ร่วมให้ความรู้ ณ ร้านทรู คอฟฟี่ ชั้น 2 สาขาสยามสแควร์ ซอย 3
อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ กล่าวว่า ชีวิตหลายคนผูกพันและเติบโตมากับวัตถุทรงกลมๆ รีๆ นามว่า “ไข่” อยู่ไม่ใช่น้อย ตั้งแต่ลูกน้อยลืมตาดูโลกไม่กี่เดือน เมื่อถึงเวลาที่กลืนกินอาหารเหลวได้บ้าง แม่ก็จะเคี่ยวข้าวต้มร้อนๆ ตอกไข่ไก่ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ นำมาบดให้ละเอียดป้อนให้กิน พอเราโตพอจะวิ่งเล่นได้ ก็แอบซุกซนไปเขี่ยไข่จิ้งจกที่วางไข่อยู่ตามซอกกล่องเก็บของ หรือซอกริมหน้าต่าง หรือนำมาส่องแดดดูตัวอ่อนภายในไข่ วิชาศิลปะประดิษฐ์คิดอะไรไม่ออก เราก็หยิบเปลือกไข่จากห้องครัวมาระบายวาดตา จมูก ปาก แต่งแต้มเป็นเจ้าหญิงในเทพนิยายส่งคุณครู จนถึงตอนนี้ ครั้นพอหิวขึ้นมา อาหารยามยากก็คือ ไข่เจียวร้อนๆ กับซอสพริก หอมอร่อยชนิดที่เอาสเต็กมาแลกก็ไม่ยอม
ไข่มีอยู่คู่โลกมานานแล้วนับร้อยล้านปี เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด จะมองในวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสุนทรียภาพศาสตร์แล้วล่ะก็ ไข่เป็นหนึ่งในกระบวนการหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่ช่วยสืบทอดสายพันธุ์ คุ้มครอง ปกป้องและโอบอุ้มทายาทให้อยู่รอดปลอดภัย สัตว์ปีกหลายชนิดที่ออกจากไข่ก็จะมีสัญชาตญาณผูกพันกับสิ่งที่มันเห็นแรกพบ ดังเช่น ลูกเจี๊ยบที่วิ่งตามต้อยๆ เพราะคิดว่า เราเป็นบุพการีของมันเข้าแล้วล่ะสิ
![]() |
อาจายร์ฤทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความลับของไข่” เป็นเรื่องสนุกและชักชวนให้ค้นหา เรื่องราวน่ามหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่มีกระบวนการปรับตัวเกี่ยวกับไข่ และความพิเศษของไข่ ตั้งแต่สีเปลือกไข่ ลวดลายบนไข่ รูปทรงและขนาดที่ทำให้ไข่ยังอยู่คู่กับโลกนี้มายาวนานจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งไข่ยังนำมาประดิษฐ์และทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้มากมาย แถมยังหาไม่ยากเพราะมีเปลือกไข่ ที่เหลือจากการทำอาหารในห้องครัวอยู่แล้ว การทดลองสนุก ๆ เกี่ยวกับไข่ อาทิ ใส่ไข่ลงขวด
ตั้งไข่ไม่ให้ล้ม พิสูจน์ไข่ดีและไข่เน่า ทำให้ไข่ลอยน้ำ พิสูจน์ไข่สุกและไข่ดิบ ไข่เต้นในน้ำส้มสายชู ไข่ทรงพลัง ไข่เปลี่ยนสี ไข่วิ่งหนี และไข่สีเงิน
ซึ่งเด็ก ๆ สามารถทำการทดลองได้ด้วยตัวเองที่บ้านหรือที่โรงเรียน ดังนี้
1. กิจกรรม ใส่ไข่ลงขวด
วัสดุ/อุปกรณ์
- ขวดแก้วปากแคบ หรือ ขวดพลาสติกหนาปากแคบ จำนวน 1 ขวด
- ไข่ต้ม 1 ฟอง
- ไม้ขีด หรือ น้ำร้อน
- น้ำมัน
วิธีการทดลอง
กรณีขวดแก้ว
- จุดไม้ขีดแล้วใส่ลงในขวดทันที
- วางไข่ต้มที่ทาน้ำมันไว้ที่ปากขวด
กรณีขวดพลาสติก
- เทน้ำร้อนลงในขวด
- วางไข่ต้มที่ทาน้ำมันไว้ที่ปากขวด
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
การจุดไม้ขีดแล้วใส่ลงในขวด หรือการเทน้ำร้อนลงในขวด ทำให้อากาศภายในขวดมีอุณหภูมิสูง จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง อากาศร้อนในขวดที่เย็นตัวลงจะหดตัวส่งผลให้ภายในขวดมีความดันอากาศต่ำ และจะพยายามดูดอากาศจากภายนอกเข้าไปภายใน แต่ติดที่ไข่ต้มที่ปิดปากขวดอยู่ ฉะนั้นไข่ต้มจึงถูกดูดเข้าไปภายในขวด
2. ตั้งไข่ไม่ให้ล้ม
วัสดุ/อุปกรณ์
- ไข่ต้ม 1 ฟอง
- เกลือ
วิธีการทดลอง
- โรยเกลือเล็กน้อยลงบนโต๊ะ
- ตั้งไข่บริเวณที่โรยเกลือ
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
เม็ดเกลือทำหน้าที่เป็นขาค้ำไข่ ไม่ให้ไข่ล้ม
3. พิสูจน์ไข่ดีและไข่เน่า
วัสดุ/อุปกรณ์
- ไข่ดิบใหม่ 1 ฟอง
- ไข่ดิบเก่า 1 ฟอง
- น้ำเปล่า
- ถ้วยน้ำ
วิธีการทดลอง
- นำไข่ดิบทั้ง 2 ฟอง ใส่ลงในถ้วยน้ำ
- สังเกตการลอยน้ำของไข่ทั้ง 2 ฟอง
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
ไข่ไก่ใหม่จะมีปริมาณไข่ขาวและไข่แดงมากแต่ช่องอากาศน้อย แต่หากทิ้งไข่ไว้ยิ่งนานจะยิ่งมีช่องอากาศมาก เนื่องจากของเหลวภายในไข่จะระเหยผ่านรูเล็กๆ ที่เปลือกไข่และอากาศภายนอกจะซึมผ่านเข้าไปแทนที่น้ำ
ทำให้ไข่ใหม่ที่มีช่องอากาศน้อยแต่มีปริมาณไข่มากจมน้ำ ในขณะที่ไข่เก่าที่มีช่องอากาศมาก จะลอยน้ำ
4. ทำให้ไข่ลอยน้ำ
วัสดุ/อุปกรณ์
- ไข่ดิบ 1 ฟอง
- น้ำเปล่า
- เกลือ
- ถ้วยน้ำ
- ช้อนคนน้ำ
วิธีการทดลอง
- นำไข่ใส่ลงในน้ำ
- สังเกตการลอยของไข่
- ค่อยๆ เติมเกลือ แล้วคนจนละลาย
- สังเกตการลอยของไข่
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
ปกติไข่จะมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ ทำให้ไข่จมลงในน้ำ แต่เมื่อเติมเกลือลงในน้ำจนกระทั่งอิ่มตัว ทำให้น้ำเกลือมีความหนาแน่นมากกว่าไข่ ฉะนั้นไข่จึงลอยในน้ำเกลือ
5. พิสูจน์ไข่สุกและไข่ดิบ
วัสดุ/อุปกรณ์
- ไข่ต้มสุก 1 ฟอง
- ไข่ดิบ 1 ฟอง
วิธีการทดลอง
- หมุนไข่ดิบ โดยจับปลายด้านแหลมของไข่เป็นแกนหมุน จากนั้นใช้นิ้วแตะเพื่อหยุดการหมุนของไข่ดิบ
- สังเกตลักษณะการหมุนและการหยุดหมุนของไข่ดิบ
- หมุนไข่ต้ม โดยจับปลายด้านแหลมของไข่เป็นแกนหมุน จากนั้นใช้นิ้วแตะเพื่อหยุดการหมุนของไข่ต้ม
- สังเกตลักษณะการหมุนและการหยุดหมุนของไข่ต้ม
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
ไข่ดิบนั้น ภายในเป็นของเหลวทำให้ลักษณะการหมุนของไข่ดิบเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เนื่องจากของเหลวภายในเป็นตัวต้านทานการหมุน และเมื่อใช้นิ้วแตะให้หยุดหมุน พบว่าไข่ดิบยังหมุนต่อได้อีก เนื่องมาจากแรงเฉื่อยในการเคลื่อนที่ของของเหลวภายใน
ส่วนไข่ต้มสุก ภายในเป็นก้อนแข็ง ทำให้หมุนได้ดี โดยมีลักษณะการหมุนเหมือนลูกข่าง และเมื่อใช้นิ้วแตะให้หยุดหมุน พบว่าไข่จะหยุดหมุนทันที เนื่องจากไม่มีแรงเฉื่อยในการเคลื่อนที่จากภายใน
6. สลายเปลือกไข่ด้วยน้ำส้มสายชู
วัสดุ/อุปกรณ์
- ไข่ไก่ดิบ 1 ฟอง
- น้ำส้มสายชู
- ถ้วยน้ำ
วิธีการทดลอง
- วางไข่ไก่ลงในถ้วยน้ำ
- เทน้ำส้มสายชูลงในถ้วย ให้ระดับน้ำส้มสายชูท่วมไข่
- สังเกตการเปลี่ยนแปลง
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
เปลือกไข่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) ซึ่งทำปฏิกิริยากับกรดอะซิติกในน้ำส้มสายชู ได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้นเมื่อเราแช่ไข่ไว้ในน้ำส้มสายชูในระยะเวลานาน ทำให้เปลือกไข่ทำปฏิกิริยากับน้ำส้มสายชูจนหมด จนกระทั่งเหลือเพียงเยื่อหุ้มไข่ ซึ่งหุ้มของเหลวภายในไว้เท่านั้น
7.ไข่สีเงิน
วัสดุ/อุปกรณ์
- เปลือกไข่
- เทียน 1 เล่ม
- ไม้ขีด
- ถ้วยน้ำเปล่า
วิธีการทดลอง
- จุดเทียน
- นำเปลือกไข่ไปลนที่เปลวเทียนให้เปลือกไข่ติดเขม่าควันสีดำ
- ปล่อยให้ไข่เย็น
- นำส่วนที่มีเขม่าสีดำจุ่มน้ำ
- สังเกตเปลือกไข่ที่ติดเขม่าในน้ำ
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
แสงที่ตกกระทบบริเวณเปลือกไข่ที่มีเขม่าควันในน้ำจะถูกสะท้อนกลับหมดเหมือนกระจก ฉะนั้นเราจึงเห็นเป็นสีเงิน
8. ไข่ล้มลุก
วัสดุ/อุปกรณ์
- เปลือกไข่
- ดินน้ำมัน
- สีโปสเตอร์
- ปากกา Permanent
- พู่กัน,จานสี
วิธีการทดลอง
- เตรียมเปลือกไข่สำหรับทำตุ๊กตา โดยเจาะรูไข่ด้านบนส่วนที่แหลมๆ นำไข่ข้างในออก ล้างเปลือกไข่ให้ สะอาด
- นำดินน้ำมันปั้นเป็นก้อนเล็กๆค่อยๆเติมใส่เข้าไปในเปลือกไข่ โดยเติมที่ละนิดแล้วตั้งไข่ดูว่าตั้งได้ตรง รึยัง ถ้ายังเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ให้เพิ่มดินน้ำมันในด้านตรงข้ามกัน จนกระทั่งตั้งไข่ได้
- เมื่อได้เปลือกไข่ล้มลุกแล้วนำมาแต่งแต้มสีให้สวยงามโดยใช้สีโปสเตอร์ หรือปากาPermanent
- ลองผลักตุ๊กตาที่ทำขึ้น จะสังเกตว่า ทำไมน๊า ......... ตุ๊กตาล้มแล้วถึงไม่ลุก
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
การประดิษฐ์ตุ๊กตาล้มลุก นอกจากจะเสริมสร้างความสนุกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ระบายสีตัวตุ๊กตาแล้ว เจ้าตุ๊กตาล้มลุกยังช่วยให้ น้องๆได้เรียนรู้หลักของความสมดุล โดยการที่นำดินน้ำมันใส่ลงไปในเปลือกไข่และจัดให้อยู่ตรงกลางด้านล่างนั้นเป็นการถ่วงน้ำหนักไว้ที่ส่วนล่างของตุ๊กตาเพื่อให้จุดศูนย์กลางมวลอยู่ที่ฐานของ ตุ๊กตา นั้นเป็นเหตุผลว่า เมื่อเราผลักตุ๊กตาให้ล้มแล้วทำไมมันถึงลุกขึ้นมาตั้งได้อีกครั้ง
9. ไข่เปลี่ยนสี
วัสดุ/อุปกรณ์
- เปลือกไข่
- พัดลมมือถือ
- สีโปสเตอร์
- พู่กัน
- เทปกาว
วิธีการทดลอง
- เตรียมเปลือกไข่โดย เจาะรูเพียงหนึ่งด้านนำไข่ข้างในออก ล้างให้สะอาด
- ระบายสีเปลือกไข่เป็นแถบตามแนวยาว โดยระบายไล่สีตามสีรุ้ง 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง รอจนสีแห้ง
- นำเปลือกไข่ที่ทาสีแล้ว ติดเข้ากับพัดลมมือถือ
- ลองเปิดพัดลม แล้วสังเกตดูสิว่าน้องๆเห็นเปลือกไขเป็นสีอะไร...?
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
เมื่อเราเปิดพัดลม น้องๆจะเห็นว่า ไข่ที่เราระบายสีรุ้งไว้นั้นขณะที่พัดลมหมุนเร็วๆ จะกลายมาเป็น สีของเปลือกไข่อีกครั้ง เมื่อปิดพัดลม ไข่หยุดหมุนมันก็จะกลายเป็นไข่สีรุ้งตามเดิมนั้นก็เพราะว่า เกิดการรวมตัวกันของแสงสี เมื่อแสงสีรุ้งบนเปลือกไข่เกิดรวมตัวตัวกัน จะทำให้เราเห็นมันเป็นสีเปลือกไข่ แต่น้องๆทราบไหม ค่ะว่าในวิชาศิลปะ เมื่อเราน้ำสีรุ้ง 7สีมาเทผสมกัน แล้วมันจะกลายเป็นสีดำค่ะ
10. กระถางต้นไม้จากเปลือกไข่
วัสดุ/อุปกรณ์
- เปลือกไข่
- อุปกรณ์ตกแต่ง ลูกปัด สติ๊กเกอร์การ์ตูน
- ดิน
- เมล็ดพืช
วิธีการทดลอง
- เตรียมเปลือกไข่ ครึ่งฟอง ล้างให้สะอาด
- ตกแต่งให้สวยงาม โดยใช้อุปกรณ์ตกแต่ง
- ใส่เมล็ดพืชเข้าไป
ประโยชน์/ความรู้ที่ได้จากการทดลอง
การเก็บเปลือกไข่จากตะกร้าขยะในครัว มาประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้ นอกจากจะได้ความสวยงาม แล้วยังเป็นการนำเปลือกไข่ที่ทิ้งแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เราสามารถนำเปลือกไข่มาเพาะเมล็ดพืชก่อนปลูกลงดินได้ด้วย โดยเมื่อต้นพืชโตพอที่จะลงดิน เราก็แค่บีบเปลือกไข่ให้แตกก่อน เป็นการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะชำได้อีกด้วย เห็นไหมค่ะว่าเปลือกไข่ใกล้ๆตัวเรามีประโยชน์มากมายขนาดไหน