ชุมพร..เมืองไบโอเทคโนโลยี แห่งแรกของไทย
![]() |
|
![]() |
![]() |
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ของชุมชนพิธีเปิดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อการ เรียนรู้ของชุมชน และเป็นประธานในการแถลงข่าวในรูปแบบเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ “ชุมพร เมืองไบโอเทคโนโลยี” CHUMPORN BIOTECHNOLOGY CITY : CBC) ร่วมกับ นายสุรพล วาณิชเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายธงชัย ลิ้มตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ณ ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดาราศาสตร์ ภาย ใต้โครงการพระราชดำริ พื้นที่หนองใหญ่ อ.เมือง จ.ชุมพร ใน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เรื่องไบโอเทคโนโลยีที่ผมและผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการจะทำ คือ จะลงมาช่วยตั้งแต่ตอนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะลงมาปรึกษาหารือกับทางจังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ดูว่าตรงไหนมีความเข้มแข็ง และผมก็ขอชื่นชมกับจังหวัดชุมพร ที่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความสามารถมากในเรื่องของการบริหารจัดการ เราจึงได้เลือกจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดต้นแบบหนึ่งในแปดที่เราจะลงไปพัฒนา เมื่อเราลงมาทำการศึกษากับทางจังหวัดโดยมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว เราก็บรรลุถึงความต้องการว่าท่านต้องการอะไร เมื่อเราทราบความต้องการตรงนี้แล้ว เราก็มาปรึกษาหารือกันว่าเรามีวิทยาการ มีองค์ความรู้อะไรที่จะสามารถลงไปช่วยเหลือคนที่จังหวัดนั้นๆ ได้ อย่างกรณีจังหวัดชุมพร ได้ทำการศึกษาและทำงานเป็นเวลาเกือบปี เราก็พบว่าจังหวัดชุมพรต้องการ 3 เรื่อง ได้แก่ ยาง ปาล์ม และผลไม้ โดยผลไม้ที่เราจะมาช่วยจะเป็นเรื่องของมังคุดและกล้วย
เราไม่ได้มาบอกว่าท่านต้องการอะไร เรามาถามท่านว่าท่านต้องการอะไร และหลังจากนั้นเราก็กลับไปดูภายในของเราเองว่าเราพร้อมหรือเปล่าที่จะลงมา ช่วยเหลือลงมาทำงานร่วมกับพวกท่าน บางเรื่องก็ต้องยอมรับว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อาจจะไม่ได้เป็นกระทรวงหลักที่จะลงมาทำงานกับพวกท่าน อย่างนั้นเราก็ต้องไปปรึกษากับกระทรวงอื่น แต่เรื่องที่ผมพูดเป็นเรื่องที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คิดว่ามีความพร้อมที่จะลงมาร่วมทำงานกับพวกท่าน ผมจะขอยกตัวอย่างเพื่อให้ท่านเห็นการทำงานที่เราจะลงมาทำงานกับพวกท่าน ยกตัวอย่างเรื่องมังคุด เราลงมาดูตั้งแต่ต้นกระบวนจนถึงปลายกระบวน อย่างเช่นต้นกระบวนหรือต้นน้ำ เราก็มาดูเรื่องคุณภาพ คุณภาพดินเราจะพัฒนาดินอย่างไร สิ่งที่เราลงมาช่วยก็คือเรื่องของปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อเช้านี้ผมก็ได้ไปร่วมกับทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย ในโครงการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ พัฒนาปุ๋ยเสร็จ พัฒนาดินเสร็จ เราก็มาดูว่าสินค้ามันมีคุณภาพอย่างนี้จะแปรรูปได้ไหม เราจะดูภาชนะบรรจุที่จะนำไปใช้ เรื่องการแปรรูปเราก็มาดูถึงน้ำมังคุด และเรื่องของภาชนะอาจจะใช้เรื่องของนาโนเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า เราทำงานกันอย่างไร และนั่นจะเป็นการตอบโจทย์ของท่านและตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ฝากไว้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเรื่องการที่จะลงมาพัฒนาขีดความสามารถของการแข่งขัน
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การนำเอาเทคโนโลยีทางด้านชีววิทยามาพัฒนาจังหวัดชุมพรนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วางแผนไว้แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 3-6 เดือน โดยนำหน่วยงานทั้งหมดใน 14 หน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้ามาในจังหวัดชุมพร และเราพบว่าชาวจังหวัดชุมพร 40-50% มีอาชีพทางการเกษตร และมีรายได้ค่อนข้างมากด้วย คือ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ ผลไม้เศรษฐกิจหลายชนิดอยู่ที่จังหวัดชุมพร และชุมพรมีศักยภาพดีมากๆ ทางด้านดินและน้ำ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะทำให้ดีและเร็วมีโอกาสสูงมาก เราจึงเข้ามาในช่วงระยะเวลาอันสั้น นำโครงการต่างๆ เข้ามา ตัวอย่างเช่น โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงลึกเข้าไปถึงชุมชน โครงการผลิตปุ๋ยที่ท่านรัฐมนตรีไปเปิดเมื่อเช้านี้ ซึ่งเป็นโครงการปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (วว.) ซึ่งก็เข้าไปดูว่าท่านต้องการปุ๋ยและจะผลิตปุ๋ยของท่านในชุมชนอย่างไร โครงการ iTAP เรื่องอบยางพารา โรงงานปาล์มน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม จะเห็นว่าในระยะสั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผู้รู้ที่สามารถจะนำจังหวัดชุมพรไปสู่จังหวัดไบโอเทคโนโลยีได้มาสัมผัส และสอบถามความต้องการของท่าน โดยได้เริ่มดำเนินการแล้ว อาทิ โครงการปุ๋ย โครงการให้ความรู้กับจังหวัดชุมพร โดยโครงการในส่วนอื่นๆ ก็กำลังเตรียมการ ซึ่งในระยะสั้นนี้จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาบ้าง
ในระยะยาว เราอยากให้จังหวัดชุมพรเป็นตัวอย่างในการบริหารเทคโนโลยี ที่สามารถจะแปรเป็นรูปเงินออมให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีในอนาคตให้ได้ เราจึงวางแผนว่าในหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องมีคำว่า “ชุมพรไบโอเทคโนโลยี” อยู่ในแผนปฏิบัติการ ด้วยศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบางหน่วยงานเก่งเรื่องการจัดการน้ำ ก็ไปดูเรื่องน้ำ หน่วยงานที่เก่งเรื่องการบริหารจัดการปุ๋ยและพืชต่างๆ ก็ไปดูเรื่องนั้น หน่วยงานที่สามารถจะแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตรหรือแปรรูปปาล์มน้ำมันเป็น ไบโอดีเซลได้ก็ไปดำเนินการและบรรจุอยู่ในแผน ในระยะยาวกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีจุดประสงค์ว่าจังหวัดนี้จะต้องเป็นจังหวัดตัวอย่าง ซึ่งจังหวัดอื่นๆ จะเข้ามาดูวิธีการบริหารจัดการเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรของจังหวัดที่มี มูลค่าดีอยู่แล้วให้เพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดี ในระยะยาวผมคิดว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรเป็นปัจจัย สำคัญของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปน้ำมังคุด หรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงการขนส่งผลไม้ไปต่างประเทศ ซึ่งเรามีเรื่องการทำผลไม้ให้อยู่ได้นานโดยใช้พลาสติกไบโอเทคโนโลยี จะทำให้เกษตรกรชาวสวนขายผลผลิตได้ราคาดี จุดสำคัญคือไม่มุ่งไปแค่เกษตรกรมีรายได้ดีเท่านั้น เราต้องการให้ SMEs โรงงานต่าง ๆ สามารถที่จะอยู่ได้ และโรงงานแปรรูปสินค้าส่งออกสู่ประเทศจีนด้วย คิดว่าในระยะยาวจังหวัดนี้จะมีศักยภาพสูงมากๆ นอกจากนี้ เราจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดชุมพร กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำมาเป็นเครือข่าย เพื่อนำผู้รู้และมีความสามารถทางด้านอื่น ๆ เข้ามาพัฒนาความต้องการของชาวจังหวัดชุมพร
ด้าน นายสุรพล วาณิชเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดชุมพร ปี 2550 มีมูลค่าประมาณ 52000 ล้านบาท และ 42.97% ของผลผลิตมาจากภาคการเกษตร 25,397 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคการ เกษตร 7.82 % ถ้ามองในภาพรวมกว่า 50% ผลิตภัณฑ์มวลของจังหวัดชุมพรมาจากภาคเกษตรเป็นหลัก จังหวัดชุมพรมีการผลิตทุเรียนและกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย รายได้เศรษฐกิจหลักอีกด้านคือยางพารา และปาล์มน้ำมัน ด้านไม้ผลมีหลากหลายครบเกือบทุกชนิดของประเทศไทย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่ารายได้หลักของจังหวัดชุมพรมาจากภาคเกษตรกรรม
ที่ผ่านมาการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรจะเป็นการจำหน่ายในรูปของวัสดุดิบ เป็นผลสด ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กรุณาให้โครงการต่างๆ ทางด้านการเกษตรกับผลผลิตที่เหลือใช้ จำนวน 23 โครงการ เป็นเงินกว่า4 ล้านบาท เมื่อเช้าท่านรัฐมนตรีฯ ก็ได้ไปเปิดการอบรมให้ความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรของจังหวัด ชุมพร ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ โครงการต่างๆ ในระยะเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเรื่องการทำให้ผลผลิตมาอายุนานขึ้น จะส่งผลให้กับเกษตรกรของชุมพรมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้รู้นวัตกรรมต่างๆ ที่จะสามารถรักษาผลผลิตให้มีอายุรอการจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือ ต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ในระยะต่อไป โครงการนำร่องของจังหวัดชุมพร เชื่อว่าทีมงานจังหวัดชุมพรไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคเอกชน พร้อมที่จะรับการสนับสนุนและดำเนินการโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัด ชุมพร
ด้าน นายธงชัย ลิ้มตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ผลผลิตของ
ชุมพรโดยรวมแล้วคือ ผลผลิตจากการเกษตรกรรมซึ่งที่เป็นหลักได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ กาแฟ นอกจากเกษตรกรรมแล้วสิ่งที่จะตามมา คือ ด้านการท่องเที่ยว การค้า และอุตสาหกรรม การที่จะเพิ่มผลผลิตเราในฐานะภาคเอกชนสิ่งที่ต้องการ คือ ต้องสร้างคุณภาพให้ได้รับดับมาตรฐานหรือเกินมาตรฐานซึ่งจะต้องเป็นระดับพรีเมี่ยม คือเราอยากได้คุณภาพไม่ว่าการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรจะต้องเป็นระบบควบคุมได้ จนได้รับการรับรอง ไม่ว่าจะเป็น GAP หรือ GMP ก็จะทำให้ผลผลิตหรือสินค้าที่เราผลิตมีความต้องการและได้ราคา นั้นคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และในการต่อยอดจากวัตถุดิบ ให้เป็นสินค้าพร้อมบริโภค นั้นคือต้องสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ได้ด้วยเราเอง เช่น ยางพารา จะต้องต่อยอดหานวัตกรรมที่สร้างสรรค์ แต่ต้องให้ครบวงจรจนถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย มิเช่นนั้นนวัตกรรมก็จะมีอายุสั้นไปไม่ถึงฝั่งล้มหายตายจากไป นั้นคือต้องมีการตลาด มีเครือข่าย สมาชิก จนถึงผู้ใช้ให้เป็นที่ต้องการและรู้จักกันดี
และส่วนของทรัพยากร จังหวัดชุมพรมีทรัพยากรที่ดีที่สุดคือทรัพยากรบุคคล จำเป็นต้องสร้างบุคคลากรให้รู้จักคิด รู้จักทำ เรียนรู้อย่างเข้าใจและพัฒนาให้ได้ ถ้าเป็นทรัพยากรธรรมชาติชุมพรมีพร้อมและหลากหลายมากเราสามารถสร้างมูลค่าโดยการนำวิทยาศาสตร์มาวิจัยคิดค้นหาประโยชน์ตรงจุดนี้มาใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม และอีกอย่างหนึ่งคือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่แล้วควรจะอนุรักษ์ไว้และฝึกสอนให้คนรุ่นหลังได้นำไปใช้อย่างแพร่หลายและพัฒนาการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นำเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เข้าไปผสมผสานให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นนั้นคือสิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องนำไปต่อยอดสู่การสร้างเครือข่าย สร้างการตลาด ซึ่งปัจจุบันชุมพรเองกำลังเป็นจุดสนใจของต่างประเทศ ซึ่งเราจะต้องสร้างสิ่งที่กล่าวมารองรับให้ทันมิฉะนั้นชุมพรจะมีปัญหามาก เราจะต้องตั้งรับและหาทางป้องกันไว้ก่อนจึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาดังกล่าวได้
นายสุพงษ์ เอื้ออารีย์ ผู้เข้าร่วมเสวนา ถามว่า จากการไปดูงานที่ สวทช. ในระหว่าง
วันที่ 8-10 มิถุนายน 2553 พบว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเทคโนโลยีและศักยภาพสูงมากในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.ชุมพร อยาก ให้มีช่องทางการพบปะเจรจา และติดต่อสื่อสารระหว่าง สวทช.และนักธุรกิจ SMEs จะทำได้อย่างไร ?
ดร.ศักรินทร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงวิทย์ฯ มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ Industrial Technology Assistance Program (iTAP) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของ สวทช. เพื่อดำเนินการสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีกิจกรรมหลักเพื่อสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ใช้บริการเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยี ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนาโดยให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหา และรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งให้อุตสาหกรรมไทยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่ระดับสากล และเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีช่องทางการติดต่อทาง
• mail (itap@tmc.nstda.or.th)
• website : http://www.tmc.nstda.or.th/htmlweb
• สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ติดต่อ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) หมายเลขโทรศัพท์ : 662 564 7000
ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก iTAP เช่น
• โครงการ “สร้างต้นแบบเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน” ให้กับ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองแดงสามัคคี อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยทางสหกรณ์กองทุนฯ ต้องการเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
• โครงการ“การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานทางสิ่งแวดล้อมของโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราอบแห้ง” ให้กับ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อปรับปรุงระบบการจัดการทางสิ่งแวดล้อมของโรงงานเพื่อลดผลกระทบที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ