ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) บทบาทหน้าที่ในการ ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเป็นเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในกระทรวง รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งมีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดกระทรวงและรองหัวหน้าส่วนราชการเป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อทำหน้าที่ ดังนี้
- ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของหน่วยงานในสังกัด
- วางแผน ปฏิบัติการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของกระทรวง
- สอบทาน ปรับปรุงระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นจากระบบงานและตัวบุคคล
- สร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
- ประสานงาน เร่งรัดและติดตามการจัดการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในภาคราชการ เพื่อให้การพัฒนาระบบราชการเกิดความโปร่งใส สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยดำเนินภารกิจทั้งการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมข้าราชการไปพร้อมกัน เป็นการบูรณาการงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกับงานคุ้มครองจริยธรรม
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น อาจแบ่งโครงสร้างภายในออกเป็น 2 กลุ่มงาน คือ
● กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำ หน้าที่ในการ
1) ปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการฯ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกระทรวง
2) ให้คำปรึกษา ประสานส่วนราชการในสังกัดเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติราชการฯ ของส่วนราชการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการฯ ของกระทรวง
3) ประสานงาน เร่งรัด และกำกับให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามแผนงาน/โครงการที่ระบุในแผนปฏิบัติ ราชการฯ
4) ประสาน ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการเรื่องร้องเรียนกรณีการ ทุจริตฯ
5) ติดตามผล และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ของกระทรวง ทุก 2 เดือน และ
6) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ส่งไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทุก 6 เดือน และ
● กลุ่มงานส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม ทำ หน้าที่ในการ
1) คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
2) ประสานงานเกี่ยวกับการคุ้มครองจริยธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ
3) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการคุ้มครองจริยธรรมเสนอหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง
ในส่วนของ แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มี 9 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ศูนย์ปฏิบัติการฯ ปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของกระทรวง โดย เพิ่มประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลให้สมบูรณ์โดย เฉพาะด้านการสร้างความโปร่งใสหรือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และการส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม
ขั้นตอนที่ 2 ส่วนราชการในสังกัดปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของกระทรวง โดยเพิ่มประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ (ตามขั้นตอนที่ 1)
ขั้นตอนที่ 3 ศูนย์ปฏิบัติการฯ และส่วนราชการในสังกัดร่วมกันปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (ตามขั้นตอนที่ 2) และนำแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่กำหนดไปสู่การปฏิบัติ
ขั้นตอนที่ 4 การ จัดการเรื่องร้องเรียน ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ จัดการเรื่องร้องเรียนโดยส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน และติดตามผลอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อยุติ
ขั้นตอนที่ 5 ศูนย์ ปฏิบัติการฯ ติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการในสังกัด โดยให้ส่วนราชการในสังกัดรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี (เฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ) ส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการฯ เพื่อการสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของกระทรวง ทุก 2 เดือน
ขั้นตอนที่ 6 ศูนย์ปฏิบัติการฯ จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของกระทรวงทุก 6 เดือน (ตามขั้นตอนที่ 5) สำเนาเสนอปลัดกระทรวง/รัฐมนตรี ส่งไปยัง สำนักงาน ก.พ.ร.
ขั้นตอนที่ 7 ศูนย์ปฏิบัติการฯ นำผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีมาปรับปรุง (Update) แผนปฏิบัติราชการ ฯ ของกระทรวง ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ
ขั้นตอนที่ 8 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ ในภาพรวมของทุกส่วนราชการ ทุก 6 เดือน
ขั้นตอนที่ 9 สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำรายงานประจำปีสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ ในภาพรวม เสนอ ครม.
ในส่วนของความคืบหน้า เรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ เพื่อกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นปรากฏในกฎ กระทรวงแบ่งส่วนราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง 18 กระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี 9 แห่ง และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง5 แห่ง (ยกเว้นสำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวัง) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
สำหรับ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติเฉพาะกำหนดให้การแบ่งส่วนราชการต้องตราเป็นพระราช กฤษฎีกา ส่วนราชการจึงต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการฯ เพื่อกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในสำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อไป
ที่มา สำนักงาน ก.พ.ร.
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูได้ที่ http://www.ops.go.th/anti-corruption/
(URLนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต)
วันนี้ฝากเพื่อนๆ ชาว สป.วท. ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ
สวัสดีครับ
ติดตาม บล๊อกของผมได้ที่ : บล็อก NyBoy : pusit@most.go.th นะครับ