ฟอร์มาลิน...สารอันตรายในอาหาร !!
เรียบเรียงโดย.....บุญสรอย บุญเอื้อ
เมื่อพูดถึงคำว่า ฟอร์มาลิน หลายคนคงรู้จักและได้ยินชื่อสารฟอร์มาลินกันมานานมากแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าใช้ในการดองศพ หรือฉีดศพ เพื่อป้องกันไม่ให้ศพเน่าเปื่อย แต่ปัจจุบันมีการนำสารฟอร์มาลินนี้มาใช้กับอาหาร เพื่อป้องกันการเน่าเสียและสามารถจัดเก็บได้นานขึ้นยิ่งขึ้น แต่....ถ้าร่างกายคนเรารับสารดังกล่าวในปริมาณที่มากก็จะทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต
ฟอร์มาลิน คืออะไร
ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือ สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรทางเคมีว่าCH2O เป็นสารละลายที่ประกอบด้วยแก๊สฟอร์มัลดีไฮด์ร้อยละ 37-40 เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน แสบจมูก โดยปกติสารละลายนี้จะไม่เสถียรหากเก็บไว้นาน โดยเฉพาะในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจะกลายเป็น กรดฟอร์มิก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน
คุณสมบัติของฟอร์มาลิน
ฟอร์มาลิน มีคุณสมบัติ หลายทาง เช่น ทางการแพทย์จะใช้สำหรับดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และทำความสะอาดห้องผู้ป่วย และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ หรือในวงการอุตสาหกรรม ก็มีการนำสารฟอร์มาลินมาใช้เป็นส่วนประกอบและสารตั้งต้นของผลิตภัณฑ์กาว(วิทยาศาสตร์) ผ้าใยสังเคราะห์ น้ำยาเคลือบเงาไม้ สีทาบ้าน วัสดุบุผิว เตาแก๊สหุงต้ม เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก พาร์ติเคิลบอร์ด ฝ้าเพดานสำเร็จรูป ฯลฯ ส่วนในอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น และจากคุณสมบัติที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราจึงถูกนำไปใช้ในการเก็บรักษาธัญพืชหลังการเก็บเกี่ยวและใช้เพื่อป้องกันแมลง แต่....ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร
ด้วยคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ พ่อค้า แม่ค้า ที่เห็นแก่ได้ จึงนิยมนำสารฟอร์มาลินมาใช้ในการเก็บรักษาอาหารสดต่างๆ เพื่อให้คงความสดได้นาน ไม่เน่าเสียเร็ว เช่น อาหารทะเลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ปู ปลา ปลาหมึก อีกทั้งประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ตลอดจนผักสดหลากหลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ชะอม หน่อไม้ ยอดมะพร้าว ผักกาดขาว คะน้า ดอกกะหล่ำ ถั่วงอก เห็ด ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารที่มักจะพบว่ามีฟอร์มาลิน และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
ฟอร์มาลินในอาหารให้โทษอย่างไร
การปนเปื้อนของฟอร์มาลินในอาหารเกิดขึ้นจากผู้ใช้ต้องการถนอมอาหารให้สดใหม่ รักษาสภาพอาหารไม่ให้เน่าเสีย อาหารชนิดต่างๆ ในธรรมชาติมีการสร้างฟอร์มัลดีไฮด์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ในระดับไม่เกิน 30-50 ส่วนในล้านส่วน) และร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดฟอร์มาลินในระดับที่พบตามธรรมชาติได้ ฟอร์มาลินตามธรรมชาติสามารถสลายตัวได้โดยแสงอาทิตย์ ออกซิเจน และความร้อน แต่การใช้ฟอร์มาลินในปริมาณมากเกินไปทำให้เกิดการตกค้างในอาหารและจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยค่า lethal dose (LD50) ในหนูประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณสูง หรือบริโภคอาหารปนเปื้อนในปริมาณมาก นั้นทำให้เกิดความผิดปกติและมีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย ดังนี้
1. พิษต่อระบบทางเดินหายใจ หากได้รับในรูปของไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำ ๆ ถ้าถูกตาจะระคายเคืองตามาก ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม ทำให้แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ทำให้เป็นแผลหรือถึงขั้นตาบอด ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก และตายในที่สุด อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานาน จะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ เป็นต้น